ธปท. มองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง คาดปี’66 เติบโต 3.8% แรงขับเคลื่อน “ภาคท่องเที่ยว-การบริโภค” ชี้ 3-4 ประเด็น “ท่องเที่ยวไม่มา-ส่งออกติดลบ-การบริโภคหดตัว-เงินเฟ้อสูงทะลุ 5%” ฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% แนะเลี่ยงมาตรการหวังผลระยะสั้น มีผลเสียระยะยาว
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 3.3% และปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 3.8% ซึ่งประมาณการอาจจะแตกต่างจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแห่งอื่น
โดยแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่ง ธปท.ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 อยู่ที่ 21 ล้านคน และการบริโภคขยายตัว 3.3% และการส่งออกจะเติบโตได้ในระดับ 1.1% ทั้งในแง่มูลค่าและปริมาณการส่งออก อย่างไรก็ดี วัฏจักรเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้มากกว่าในปีนี้
เมธี สุภาพงษ์
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะเติบโตสูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหากดูปัจจัยอะไรที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% พบว่ามีอยู่ 3-4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องต่ำกว่า 20 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนไม่มาเลย
2.การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.1% ซึ่งหากตัวเลขออกมาไม่ถึง และเติบโตติดลบ 2% และ 3.การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะโต 3.3% แต่ออกมาเพียงกว่า 1% และสุดท้าย 4.อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 5% และราคาน้ำมันกลับขึ้นไปสูงที่ระดับ 144 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ปัจจัย 3-4 เรื่องสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้มั้ย สามารถเกิดขึ้นไดั เพราะจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน หากนักท่องเที่ยวไม่มา การบริโภค การจ้างงานก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ดี คาดว่าการเกิดขึ้นน่าจะน้อย”
ดังนั้น ในแง่การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องทำให้เศรษฐกิจไม่สะดุด และทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องชั่งน้ำหนักในหลายประเด็น ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้เอกชน ทำให้การเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่แรง และมาตรการอื่น ๆ จะต้องดูตามความเหมาะสม จังหวะไหนควรเร่ง จังหวะไหนควรหยุด
ทั้งนี้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือ มาตรการหวังผลระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น เห็นตัวอย่างในประเทศอังกฤษ ที่นโยบายส่งผลให้ตลาดเกิดความผันผวน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมีประเด็นความเสี่ยง ดัังนั้น ในแง่การดำเนินนโยบายต่าง ๆ จะมีทั้งนโยบายที่ไม่เหมาะสม และหากทำจะสร้างความเสียหายได้
ขณะที่มาตรการระยะยาว ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความสำคัญและควรทำคือ การเพิ่มผลิตภาพทั้งในส่วนของการลงทุน แรงงาน และการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภาพของไทยยังไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการ และลดอุปสรรคในการก่อให้เกิดผลิตภาพ